จั๋ง ๑

Rhapis excelsa (Thunb.) A. Henry

ชื่ออื่น ๆ
จั๋งญี่ปุ่น, หมากญี่ปุ่น, เท้าสาน (ทั่วไป)
ปาล์มกอ แตกกอค่อนข้างโปร่ง ลำต้นใต้ดินทอดเลื้อย ลำต้นเหนือดินตั้งตรง มีกาบใบและรกติดทน ใบรูปฝ่ามือ เรียงเวียน แผ่นกว้างออกเป็นรูปครึ่งวงกลม ขอบหยักลึกเป็นแฉก ๒-๑๓ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบยาว ปลายตัดและมีรอยหยักซี่ฟัน ที่ขอบกาบใบมีรกเป็นร่างแหห่าง ๆ สีน้ำตาลเข้มหุ้มรอบกาบใบและลำต้น ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกกาบใบใกล้ยอด ดอกสีเหลือง ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือทรงรี ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง เมล็ดรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่มี ๑-๓ เมล็ด

จั๋งชนิดนี้เป็นปาล์มกอ สูง ๑-๓ ม. แตกกอค่อนข้างโปร่ง ลำต้นใต้ดินทอดเลื้อย ลำต้นเหนือดินตั้งตรงมีกาบใบและรกติดทน เส้นผ่านศูนย์กลางรวมกาบใบ ๑.๕-๒.๕ ซม.

 ใบรูปฝ่ามือ เรียงเวียน แผ่กว้างออกเป็นรูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ ๓๐ ซม. ตั้งชูขึ้น ขอบหยักลึกเป็นแฉก ๒-๑๓ แฉก เชื่อมติดกันที่โคน ๕-๘ ซม. แต่ละแฉกรูปแถบยาว กว้างได้ถึง ๗ ซม. ยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ปลายตัดและมีรอยหยักซี่ฟัน ขอบแฉกเรียบ แผ่นใบโค้ง


คว่ำลงเล็กน้อย มีรอยพับจีบตามแนวเส้นแขนงใบตามยาว เกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมันเงา ก้านใบยาว ๑๕-๔๐ ซม. กาบใบและก้านใบสีเขียว ที่ขอบกาบใบมีรกเป็นร่างแหห่าง ๆ สีน้ำตาลเข้ม เรียงเป็นระเบียบหุ้มรอบกาบใบและลำต้น

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกกาบใบใกล้ยอด ช่อดอกแตกกิ่ง ๒-๓ กิ่ง แกนกลางช่อยาวได้ถึง ๒๖ ซม. แกนกลางช่อย่อยยาวได้ถึง ๑๑ ซม. เกลี้ยง ดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๖ มม. สีเหลือง ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เกสรเพศผู้ ๖ เกสร เรียงเป็น ๒ ชั้น ก้านชูอับเรณูยาว มักเชื่อมติดกับหลอดกลีบดอกเกือบตลอดความยาว อับเรณูรูปเกือบกลม ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ แต่สั้นกว่าดอกเพศผู้ และมีก้านดอกสั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเล็ก รูปคล้ายโล่ขอบพับจีบ

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือทรงรี กว้าง ๓-๘ มม. ยาวได้ถึง ๑ ซม. ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง เมล็ดรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่มี ๑-๓ เมล็ด

 จั๋งชนิดนี้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน และเวียดนามตอนเหนือ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ใบประดับ นิยมปลูกกันมากในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อนทั่วโลก

 ประโยชน์ ใบสดนิยมนำมาจัดแต่งซุ้มดอกไม้ลำต้นมีเนื้อไม้ที่เหนียวและแข็งแรง ใช้ทำตะเกียบและไม้เท้า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จั๋ง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhapis excelsa (Thunb.) A. Henry
ชื่อสกุล
Rhapis
คำระบุชนิด
excelsa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter
- Henry, Augustine
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
- Henry, Augustine (1857-1930)
ชื่ออื่น ๆ
จั๋งญี่ปุ่น, หมากญี่ปุ่น, เท้าสาน (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายมานพ ผู้พัฒน์